พื้นที่สีเขียว หมายถึง พื้นที่ธรรมชาติ หรือพื้นที่ที่มนุษย์สร้างขึ้นหรือกำหนดขึ้นในเมืองหรือชุมชนปกคลุมด้วยพืชพรรณเป็นองค์ประกอบหลัก มีประโยชน์เพื่อสิ่งแวดล้อมระบบนิเวศการดำรงชีวิต และคุณภาพชีวิตของประชาชน
พื้นที่สีเขียวยั่งยืน หมายถึง พื้นที่สีเขียวที่มีพืชพรรณที่มีความหลากหลายทั้งชนิดและปริมาณ โดยมีไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ เป็นองค์ประกอบหลักและได้รับการดูแลบำรุงรักษาให้คงอยู่ อย่างยั่งยืน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสมดุลทางระบบนิเวศ เกิดสภาพแวดล้อมที่ดี สวยงาม ร่มเย็น น่าอยู่ และเพิ่มองค์ประกอบของการใช้ประโยชน์ที่ดินทั้งทางตรงและทางอ้อม แก่การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากร ในเมืองและชุมชน ผู้มาเยือน ตลอดจนเสริมสร้างเศรษฐกิจของชุมชน
พื้นที่สีเขียว แบ่งออกเป็น 6 ประเภท ตามคุณลักษณะและการใช้ประโยชน์ ได้แก่
1) พื้นที่สีเขียวสาธารณะ พื้นที่เพื่อพักผ่อนหย่อนใจและเสริมสร้างทัศนียภาพให้กับเมือง เช่น สวนสาธารณะ สวนพฤกษศาสตร์ สนามกีฬา สนามเด็กเล่น สวนกลางเมือง
2) พื้นที่สีเขียวอรรถประโยชน์ ประกอบด้วย
2.1) พื้นที่สีเขียวส่วนบุคคล เช่น สวนในโครงการพัฒนาของเอกชน สวนในบ้าน และอาคารพักอาศัย
2.2) พื้นที่สีเขียวในสถาบัน เช่น แหล่งประวัติศาสตร์ สถาบันการศึกษา สถาบันราชการ หน่วยงานราชการ
2.3) พื้นที่สีเขียวในพื้นที่สาธารณูปการ เช่น พื้นที่ฝังกลบขยะ พื้นที่รอบบ่อบำบัดน้ำเสีย เขตท่าอากาศยาน
3) พืื้นที่สีเขียวที่เป็นริ้วยาวตามแนวสาธารณูปการ พื้นที่แนวที่ขนานกับเส้นทางสัญจรสาธารณะ เช่น พื้นที่ริมทางสัญจรทางบก บริเวณริมทาง เกาะกลางถนน เขตทางรถไฟ และพื้นที่ริมทางสัญจรทางน้ำ บริเวณริมแม่น้ำ ริมลำคลอง คลองชลประทาน
4) พื้นที่สีเขียวเพื่อเศรษฐกิจของชุมชน พื้นที่สร้างรายได้ให้กับชุมชน หรือเจ้าของพื้นที่ เช่น พื้นที่สีเขียวที่เป็นแหล่งผลิตอาหารแก่ชุมชน ประเภท ไร่นา สวนไม้ผล พืชไร่ สวนป่าเศรษฐกิจ พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และมีการปลูกพืชผสมผสาน
5) พื้นที่สีเขียวธรรมชาติ พื้นที่ที่อยู่ดั้งเดิมมีความสำคัญต่อระบบนิเวศ จำเป็นต้องอนุรักษ์ให้คงอยู่ในสถานที่สมบูรณ์ เช่น พื้นที่สีเขียวบนเนินเขา ภูเขา พรุ แหล่งน้ำ คูคลอง ทะเลสาบ พื้นที่ชุ่มน้ำ รวมถึงป่าช้า สุสาน ป่าชุมชน
6) พื้นที่สีเขียวที่ยังไม่มีการใช้ประโยชน์ หรือรอการพัฒนา พื้นที่สีเขียวที่ถูกปล่อยทิ้งร้าง เช่น พื้นที่สีเขียวที่ปล่อยรกร้าง
