พญาคชราช

ไม้ต้น สูงได้ถึง 10 ม. มีขนกระจุกยาวหนาแน่นตามกิ่ง หูใบ แผ่นใบ ริ้วประดับ ช่อดอก และกลีบเลี้ยง ขนยาวได้ถึง 8 มม. หูใบรูปขอบขนาน ยาว 6-10 ซม. ร่วงเร็ว ใบรูปไข่กว้างหรือเกือบกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 20-36 ซม. ปลายเป็นติ่งแหลมยาว โคนรูปหัวใจ เส้นโคนใบ 7 หรือ 9 เส้น มีต่อมตามเส้นแขนงใบ ก้านใบยาว 15-30 ซม. ช่อดอกออกที่ปลายกิ่ง ยาวได้ถึง 30 ซม. ก้านดอกยาว 2.5-3 ซม. ใบประดับคล้ายหูใบ มี 1 คู่ โคนเชื่อมติดกัน ริ้วประดับมี 10-12 อัน โคนเชื่อมติดกัน รูปใบหอก ยาวได้ถึง 3 ซม. กลีบเลี้ยงรูปใบหอก ยาวเท่า ๆ ริ้วประดับ ดอกรูประฆัง สีเหลือง โคนด้านในมีปื้นสีน้ำตาลอมม่วง ดอกบานเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 6 ซม. กลีบรูปไข่กลับ ยาว 4.5-6 ซม. หลอดเกสรเพศผู้ยาวประมาณ 3 ซม. ก้านชูอับเรณูสั้น ก้านเกสรเพศเมียมีขนหนาแน่น ผลรูปขอบขนาน ยาว 2.5-3 ซม. มีขนหยาบแข็งยาวหนาแน่น พบที่อินเดีย ปากีสถาน บังกลาเทศ จีนตอนใต้ พม่า ภูมิภาคอินโดจีน คาบสมุทรมลายู ชวา บอรฺ์เนียว และฟิลิปปินส์ (ปาละวัน) ในไทยพบแทบทุกภาค ส่วนมากพบทางภาคใต้ ขึ้นตามป่าดิบแล้ง ป่าดิบชื้น และป่าดิบเขา หรือชายป่า ความสูงถึงประมาณ 1400 เมตร มีสรรพคุณเป็นยาสมาน เปลือกใช้ทำเชือกและกระดาษ บางครั้งเรียกทางการค้าในการปลูกสวนป่าว่า พญาคชราช เนื่องจากเนื้อไม้มีลายคล้ายไม้สัก แต่ไม่ทนทาน

ขี้เท่า (ชัยภูมิ); จ๊อง (มาเลย์-ปัตตานี); ชู้เมีย (เพชรบุรี); ตองเต๊า, ท้องโต (ภาคเหนือ); ปอจง (เชียงใหม่); ปอเปิด (ชลบุรี); ปอมุก (ชุมพร); ปอสามเต๊า (เชียงใหม่); ปอหมื่น (ภาคเหนือ); ปอหู (สระบุรี); เปิด (เชียงใหม่); พญาคชราช (ทั่วไป); อูจง (ตรัง); แอบข้าว (ภาคเหนือ); ไอจ๊อง (มาเลย์-ปัตตานี)

Hibiscus macrophyllus Roxb. Ex Hornem.

Sterculiaceae

ใช่


เป็นไม้โตเร็วและพบรายงานความเสียหายที่เกิดจากโรคและแมลงน้อยมาก การบำรุงและดูแลรักษาจึงไม่ยุ่งยาก แต่ควรหาวิธีป้องกันไม้ให้สัตว์เลี้ยงที่กินพืชเข้าไปรบกวนในแปลงปลูก เพราะอาจเข้าไปกัดกินยอดและใบ หรือ เหยียบทำลายได้ อย่างไรก็ตามในช่วงแรกควรให้ปุ๋ยและสร้างไม้ค้ำยัน ตามความเหมาะสม โดยเฉพาะ 6 เดือนแรกของการปลูก ต้องมีการให้น้ำและปุ๋ยอย่างสม่ำเสมอดังนี้ - ระยะ 1-6 เดือนแรกของการปลูก ให้ปุ๋ยเดือนละ 2 ครั้ง - ตั้งแต่ 6 เดือน – 1 ปี ให้ปุ๋ยเดือนละ 1 ครั้ง เมื่อพ้น 1 ปี ต้นไม้จะแข็งแรงเพียงพอที่จะเติบโตได้เองตามธรรมชาติ เกษตรอาจให้ปุ๋ยบำรุงต้นเพิ่มเติมเพียงปีละ 1 ครั้ง และควรมีการปลูกซ่อมแซม ปราบวัชพืช ทำแนวกันไฟ การชิงเผาเพื่อลดเชื้อเพลิง แลการตัดสางขยายระยะ เพื่อส่งเสริมการเจริญเตอบโตของไม้ที่เหลือ

1. หลังปลูกได้ 1-2 ปี ความสูงอยู่ระดับ 6-10 เมตร ขึ้นอยู่กับการดูแล จะนำเปลือกไม้ไปทำเป็นเชือกปอ ส่วนเนื้อไม้เอาไปทำดอกไม้จันทน์ และ ถ้ามีอายุมากกว่านี้แก่นของไม้จะเริ่มแข็งขึ้น 2. หลังปลูกได้ 5-7 ปี เส้นรอบวงอยู่ที่ประมาณ 100-120 เซนติเมตร สูงไม่ต่ำกว่า 14 เมตร และจะมีแก่นลายไม้สีน้ำตาลเข้ม ลักษณะเนื้อไม้คล้ายไม้พะยูงหรือไม้สัก เนื้อไม้ใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ในครัวเรือน กรอบและบานหน้าต่าง งานกลึงแกะสลักทำพื้นและฝาที่ใช้งานในที่ร่ม (กรณีที่ใช้งานภายนอกควรใช้เนื้อไม้ที่มีอายุมากและควรใช้สารเคลือบไม้เพื่อเพิ่มความทนทาน) ใช้ทำไม้อัดพาร์ติเคิลบอร์ด วีเนียร์ ทำกระดานไม้ฝา


กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม
49 ถนนพระรามที่ 6 ซอย 30 แขวงพญาไท เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร 10400
เบอร์โทรศัพท์ : 02-298-5636
E-mail : green_area@dcce.mail.go.th