ลำพูป่า

ต้นลำพูป่า จัดเป็นไม้ยืนต้นโตเร็วผลัดใบขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ลำต้นมีลักษณะเปลาตรง มีความสูงได้ประมาณ 15-35 เมตร โตวัดรอบลำต้นได้ประมาณ 100-200 เซนติเมตร เรือนยอดแผ่กว้าง รูปทรงกลมหรือทรงกระบอก กิ่งใหญ่จะตั้งฉากกับลำต้น ปลายกิ่งห้อยลู่ลง เปลือกเป็นสีเทาเป็นสะเก็ดหรือตกเป็นแผ่นไม่เป็นระเบียบ เปลือกในเป็นสีน้ำตาลแดงคล้ำ ส่วนกระพี้เป็นสีน้ำตาลปนเหลือง ตามกิ่งอ่อนเป็นสันสี่เหลี่ยม สีเหลือง เกลี้ยง บิดไปมาระหว่างคู่ใบ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด พบขึ้นตามป่าริมน้ำ ริมลำธาร หรือลำห้วยทั่วไปทางภาคเหนือและภาคใต้ ป่าดิบแล้ง ป่าดิบชื้น และป่าดิบเขาต่ำ ที่ระดับความสูงตั้งแต่ 300-1,200 เมตร จากระดับน้ำทะเล ในต่างประเทศพบได้ที่อินเดีย พม่า จีนตอนใต้ ภูมิภาคอินโดจีน และภูมิภาคมาเลเซีย ใบลำพูป่า ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนานถึงรูปไข่แกมขอบขนาน ปลายใบเรียวแหลมเป็นติ่งสั้น โคนใบเว้าลึกเป็นรูปหัวใจหรือเป็นรูปติ่งหู ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 4-10 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10-24 เซนติเมตร เนื้อใบค่อนข้างหนาและเกลี้ยง ผิวใบด้านบนเกลี้ยงเป็นสีเขียวเข้ม ส่วนท้องใบมีนวลหรือเป็นคราบขาว เส้นแขนงใบมีประมาณ 14-20 คู่ ปลายเส้นจรดกันก่อนถึงขอบใบกลายเป็นเส้นขอบใบชัดเจน เส้นใบย่อยเป็นแบบขั้นบันได มองเห็นได้ชัดทางด้านท้องใบ ก้านใบเป็นสีเขียวเข้ม ลักษณะอวบ มีขนาดยาวไม่เกิน 1 เซนติเมตร ส่วนหูใบไม่มี ดอกลำพูป่า ออกดอกเป็นช่อเชิงหลั่น โดยจะออกที่ปลายกิ่ง ดอกย่อยมีจำนวนมาก ประมาณ 15-30 ดอก ลักษณะห้อยลง ดอกลำพูป่าจะบานในช่วงเวลากลางคืนถึงช่วงเช้า หุบในช่วงกลางวัน เป็นดอกแบบสมบูรณ์เพศ ดอกเป็นสีขาวขนาดใหญ่ ประมาณ 10 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงดอกเป็นรูปถ้วย มีขนาดกว้างประมาณ 1.5-3 เซนติเมตร ปลายแยกออกเป็นแฉกประมาณ 6-7 แฉก กว้างประมาณ 0.7-1.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1.2-3 เซนติเมตร แผ่ออก ส่วนกลีบดอกมี 6-7 กลีบ ลักษณะเป็นรูปไข่ มีขนาดกว้างประมาณ 2.5-3.4 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-4 เซนติเมตร ดอกมีเกสรเพศผู้จำนวนมาก ขนาดยาวกว่ากลีบดอก อับเรณูสีเหลืองอมน้ำตาล เกสรเพศเมียจะยาวกว่าเกสรเพศผู้ ยอดเกสรเพศเมียเป็นสีเขียว ก่อนจะออกดอกจะทิ้งใบหมดแล้วจะผลิใบใหม่ทันทีพร้อมกับเริ่มผลิดอก โดยจะออกดอกในช่วงประมาณเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน ผลลำพูป่า ผลเป็นผลแห้ง ลักษณะของผลเป็นรูปไข่แกมทรงกลม รูปไข่กว้าง รูปกลมแป้น หรือมีลักษณะแป้นเป็นรูปตลับ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5 เซนติเมตร ผลเป็นสีเขียว แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเมื่อแก่ และแตกอ้าออกตรงกลางพูเป็นเสี่ยง ๆ ที่ฐานมีชั้นกลีบเลี้ยงรูปดาวรองรับ กลีบเลี้ยงติดคงทน ภายในผลมีเมล็ดจำนวนมาก ประมาณ 6-7 เมล็ด ลักษณะเป็นรูปเส้นยาวมีหาง โดยจะเป็นผลในช่วงประมาณเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม และผลจะแก่เต็มที่ในช่วงประมาณเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน

กาลา คอเหนียง (เชียงใหม่), สะบันงาช้าง (แพร่), กระดังงาป่า (กาญจนบุรี), ตะกูกา (จันทบุรี), ลิ้นควาย (ปราจีนบุรี), หงอกไก่ (ประจวบคีรีขันธ์), ขาเขียด (ชุมพร), ลำพูขี้แมว (ระนอง), ลำแพน (ตรัง), ลำแพนเขา (ยะลา), ลำพูควน (ปัตตานี), เต๋น ตุ้มเต๋น ตุ้มบก ตุ้มลาง ตุ้มอ้า ลาง ลูกลาง ลูกลางอ้า (ภาคเหนือ), ตะกาย โปรง ลำพูป่า (ภาคใต้), บ่อแมะ (มลายู-ยะลา), บะกูแม (มลายู-นราธิวาส), กู โก๊ะ ซังกะ เส่ทีดึ๊ (กะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน), ซิกุ๊ (กะเหรี่ยงเชียงใหม่), โก (กะเหรี่ยง-กำแพงเพชร), ซ่อกวาเหมาะ (กะเหรี่ยงแดง),

Duabanga grandiflora (DC.) Walp.

LYTHRACEAE

ใช่



ดอกมีน้ำหวาน ใช้รับประทานได้ ยอดอ่อนและดอกอ่อนใช้รับประทานเป็นผักสดหรือลวกเป็นผักจิ้ม ชาวลั้วะจะนำกลีบเลี้ยงหรือผลมารับประทานสดร่วมกับน้ำพริก ส่วนชาวกะเหรี่ยงแดงจะใช้ผลอ่อนนำไปเผาไฟรับประทานจิ้มกับน้ำพริก เนื้อไม้ลำพูป่าเป็นสีเทา มักมีเส้นผ่านสีเหลืองหรือน้ำตาล เสี้ยนตรงหรือสั้น เนื้อไม้หยาบ เลื่อยผ่าไสกบง่าย มีความแข็งแรงปานกลาง ผึ่งง่าย ทนทานปานกลางในที่ร่มและเฉพาะอย่างยิ่งในน้ำ ใช้ก่อสร้างบ้านเรือน ทำฝา พื้นบ้าน ทำเรือ ไม้พายเรือ ทำลังใส่ของ หีบศพ ทำไส้ไม้อัด กล่องไม้ขีด ก้านร่ม ทำแบบหล่อคอนกรีต ใช้เป็นส่วนประกอบของร่มกระดาษ ฯลฯ ต้นลำพูป่าเป็นไม้โตเร็วชนิดหนึ่ง นิยมใช้ปลูกเป็นไม้บุกเบิก เหมาะสำหรับใช้ปลูกเพื่อการฟื้นฟูต้นน้ำลำธาร


กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม
49 ถนนพระรามที่ 6 ซอย 30 แขวงพญาไท เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร 10400
เบอร์โทรศัพท์ : 02-298-5636
E-mail : green_area@dcce.mail.go.th